วันศุกร์ที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2563

การคำนวณลักษณะงานที่มีเวลางานไม่ปกติและการปรับค่าขีดจำกัดการได้รับสัมผัสสารในสิ่งแวดล้อมการทำงาน (Adjusted TLV)

Meet the Academic >> หมวดการดูแลสุขภาพอนามัยพนักงาน

เขียนโดย ผศ.ดร. ฐิติวร ชูสง, คณะแพทยศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์


🔥 สาระสังเขป 


          ลักษณะงานที่มีเวลางานไม่ปกติมีหลายรูปแบบ ได้แก่ การทำงานนานกว่าวันละ 8 ชั่วโมง เช่น 12 ชั่วโมงต่อวัน เป็นเวลา 3 วันต่อสัปดาห์ หรือทำงาน 10 ชั่วโมงต่อวัน เป็นเวลา 4 วันต่อสัปดาห์ เป็นต้น ขีดจำกัดการได้รับสัมผัสสารในสิ่งแวดล้อมการทำงาน (Adjusted TLV) ควรมีการปรับเมื่อพนักงานต้องทำงานมากกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อป้องกันไม่ให้ระดับสารในร่างกายสูงสุดมีค่าสูงเกินระดับที่ไม่เกิดอันตรายต่อร่างกาย



          เนื่องจากวันหนึ่งมี 24 ชั่วโมง คนที่ทำงานปกติ 8 ชั่วโมง จะมีช่วงเวลาการรับสัมผัส 8 ชั่วโมงและมีช่วงเวลาในการขับถ่ายสารออกจากร่างกาย 16 ชั่วโมง ก่อนเริ่มวันใหม่ สำหรับคนที่ทำงาน 10 ชั่วโมงต่อกะการทำงานจะมีช่วงเวลาการได้รับสัมผัสสารในที่ทำงาน 10 ชั่วโมง และช่วงเวลาขับถ่ายสารที่ได้รับออกจากร่างกายลดลงจาก 16 ชั่วโมงเป็น 14 ชั่วโมง 

          สำหรับสารเคมีที่มีอันตรายต่อระบบอวัยวะและมีค่าครึ่งชีวิตอยู่ระหว่าง 5 ถึง 500 ชั่วโมง จะเห็นได้ว่าการทำงานมากกว่า 8 ชั่วโมงต่อกะการทำงานได้รับอันตรายมากกว่าการทำงานปกติ 8 ชั่วโมง ถ้าระดับการสัมผัสสารไม่ได้มีการปรับลดลง


         โมเดลที่มีในปัจจุบัน ประกอบด้วย Brief and Scala model, OSHA Model, Pharmacokinetic Model,  และ Quebec model โดยในที่นี้จะนำเสนอเฉพาะ Brief and Scala model



🔥 Brief and Scala model 


          นำเสนอโดย Brief และ Scala มีวิธีปรับค่าขีดจำกัดการได้รับสัมผัสสารในสิ่งแวดล้อมการทำงานมีสูตร ดังนี้



TLV reduction factor = (8/h) x ((24-h) / 16)
      • เมื่อ h = จำนวนชั่วโมงทำงานต่อวัน

และสำหรับการทำงานต่อสัปดาห์มีสูตร ดังนี้

TLV reduction factor = (40/h) x ((168-h) / 128)
      • เมื่อ h = จำนวนชั่วโมงทำงานต่อสัปดาห์

ตัวอย่างการคำนวณและแปรผล

     1.) พนักงานในสถานประกอบการแห่งหนึ่งทำงานกะ 8 ชั่วโมงต่อวัน และทำ OT ต่อเนื่องวันละ 2 ชั่วโมงต่อวัน ระดับการสัมผัสโทลูอีนตลอดระยะเวลาการทำงานของพนักงานในสถานประกอบการแห่งนี้ต้องไม่เกินกี่ ppm 

        จากสูตร       TLV reduction factor        =  (8/h) x ((24-h)/16)
  แทนค่า        TLV reduction factor        =  (8/10) x ((24-10)/16)
                                                                   =  0.7
  TLV สำหรับ Toluene (OSHA) = 200 ppm
  Adjusted TLV สำหรับ Toluene = 200 x 0.7 
                                                                   =  140 ppm
ระดับการสัมผัสโทลูอีนตลอดระยะเวลาการทำงานของพนักงานในสถานประกอบการแห่งนี้
ต้องไม่เกิน 140 ppm

       2.) พนักงานในสถานประกอบการแห่งหนึ่งทำงานสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมงต่อวัน และทำ OT ต่อเนื่องสัปดาห์ละ 8 ชั่วโมงต่อวัน ระดับการสัมผัสโทลูอีนตลอดระยะเวลาการทำงานของพนักงานในสถานประกอบการแห่งนี้ต้องไม่เกินกี่ ppm

        จากสูตร        TLV reduction factor         =  (40/h) x ((168-h)/128)
  แทนค่า         TLV reduction facto          =  (40/48) x ((168-48)/128)
  = 0.78
  TLV สำหรับ Toluene (OSHA) = 200 ppm
  Adjusted TLV สำหรับ Toluene = 200 x 0.78
                                                                     =  156 ppm
ระดับการสัมผัสโทลูอีนตลอดระยะเวลาการทำงานของพนักงานในสถานประกอบการแห่งนี้
ต้องไม่เกิน 156 ppm

           ดังนั้น เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน ควรมีการนำการคำนวณลักษณะงานที่มีเวลางานไม่ปกติและการปรับค่าขีดจำกัดการได้รับสัมผัสสารในสิ่งแวดล้อมการทำงาน (Adjusted TLV) มาใช้ในการเฝ้าระวังทางสิ่งแวดล้อมในพนักงานที่ต้องทำงานนานกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน หรือ 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

*****************************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น