Meet the Academic >> หมวดการยศาสตร์และการปรับปรุงสภาพการทำงาน
เขียนโดย รศ. ดร.สุดาว เลิศวิสุทธิไพบูลย์สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
การทำงานที่บ้าน (work from home) หรือการทำงานทางไกล (telework) เป็นประสบการณ์ใหม่ที่ผู้ปฏิบัติงานจำนวนมากต้องเผชิญในช่วงปิดเมือง เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทำให้หน่วยงานต่าง ๆ มีนโยบายให้บุคลากรทำงานที่บ้านในช่วงนี้มากขึ้น ซึ่งถึงแม้ว่าจะส่งผลดีในแง่ความปลอดภัยและช่วยลดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อ แต่ขณะเดียวกัน การทำงานที่บ้านก็อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยและประสิทธิภาพในการทำงาน เนื่องจากการทำงานที่บ้านมักอาศัยเทคโนโลยีการสื่อสารโทรคมนาคมเข้ามาช่วย ซึ่งพนักงานสามารถทำงานในที่ต่าง ๆ แม้กระทั่งบนโซฟาหรือบนเตียงนอน อาการผิดปกติที่พบได้บ่อย คือ อาการปวดหลังส่วนล่าง คอเคล็ด เอ็นกล้ามเนื้ออักเสบ และปัญหาการเมื่อยล้าสายตา
เทคนิคทางการยศาสตร์ที่สามารถนำมาใช้เพื่อให้สภาวะการทำงานที่บ้านสะดวกสบาย ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพ มีดังนี้
1. จัดห้องสำหรับทำงาน กรณีที่ไม่มีห้อง ให้จัดเป็นมุมทำงานแยกออกจากพื้นที่นั่งเล่นอื่นๆ ให้เป็นสัดส่วนที่เงียบสงบ ปราศจากการรบกวน อากาศถ่ายเทได้ดี และมีแสงสว่างเพียงพอ
2. ระมัดระวังเกี่ยวกับระบบไฟฟ้า เลือกเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีคุณภาพและติดตั้งอย่างปลอดภัยตามมาตรฐาน การเดินสายไฟไม่ควรพาดผ่านหรือกีดขวางทางเดิน เพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากการสะดุดล้ม
3. จัดเตรียมโต๊ะทำงาน เก้าอี้ และอุปกรณ์ที่จำเป็น เช่น คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะหรือแล็ปท็อป อุปกรณ์สำนักงาน เครื่องมือสื่อสาร รวมทั้งระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้พร้อม
4. ปฏิบัติตามหลักการทั่วไปของการยศาสตร์ เช่น การจัดโต๊ะทำงาน เก้าอี้ คอมพิวเตอร์ ถ้าเป็นไปได้ควรจัดสถานีงานที่สามารถเปลี่ยนอิริยาบถนั่ง-ยืนได้ ดังภาพ
ภาพ : การจัดสถานีงานที่เปลี่ยนอิริยาบถนั่ง-ยืนได้
ที่มา: https://www.system-concepts.com/insights/coronavirus-ergonomics-tips-for-working-at-home/
5. สร้างบรรยากาศที่สุขสบาย น่าทำงาน ด้วยการปลูกต้นไม้ประดับ เช่น ต้นกระบองเพชร หรือพลูด่าง ฯลฯ ช่วยให้รู้สึกสดชื่น ได้พักผ่อนสายตาด้วยการมองพืชสีเขียว
6. จัดตารางเวลาทำงาน และตารางการประชุมไว้ล่วงหน้าในแต่ละวัน/สัปดาห์/เดือน มีการลำดับความสำคัญ และกำหนดเป้าหมายของงานที่จะทำให้สำเร็จ
7. ควรกำหนดเวลาพักเพื่อไม่ให้ทำงานติดต่อกันนานเกินไป เช่น พักกลางวัน 1 ชั่วโมง และพักย่อย 15 นาทีทุกสองชั่วโมง เพื่อเปลี่ยนอิริยาบถ และควรพักสายตาจากหน้าจอเป็นระยะๆ
8. ปฏิบัติงานตามตารางเวลาทำงานให้เป็นปกติ ไม่นำงานบ้านหรือกิจวัตรประจำวันมาปะปนกัน ควรรับประทานอาหารที่เหมาะสมเป็นมื้อเป็นคราวตามเวลา เช่น ช่วงพักเที่ยง หรือช่วงพักเบรก หลีกเลี่ยงการทำงานในชุดนอนทั้งวัน
9. มีการออกกำลังกายยืดเส้นยืดสายระหว่างทำงาน เพื่อลดความเมื่อยล้าและป้องกันโรคออฟฟิศซินโดรม
10. ใช้เทคโนโลยีการสื่อสาร (เช่น video calls) ในการทักทาย สร้างปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน หมั่นให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ถ้ามีปัญหาในการทำงาน ควรสื่อสารหาทางออกร่วมกันในองค์กรเพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤตการณ์ในช่วงโควิด-19 ไปด้วยดี
😳😳😳😳😳😳😳😳😳😳😳
เอกสารอ้างอิง:
Looking after your mental health while working during the coronavirus outbreak. Retrieved April 25, 2020 from
https://www.mentalhealth.org.uk/publications/looking-after-your-mental-health-during-coronavirus-
outbreak/while-working
System-concepts. (2020). Coronavirus – ergonomics tips for working at home. Retrieved April 25, 2020 from
https://www.system-concepts.com/insights/coronavirus-ergonomics-tips-for-working-at-home/
The Medical Service, CERN. (2020). COVID-19: Make your telework space more ergonomic. Retrieved April
25, 2020 from https://home.cern/news/news/cern/covid-19-make-your-telework-space-more-ergonomic
*****************************************
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น