วันเสาร์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2562

การประเมินการสัมผัสสารเคมีแบบ TWA

Meet the Academic >> หมวดสุขศาสตร์อุตสาหกรรม

เขียนโดย รศ.สราวุธ สุธรรมาสา สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ มสธ.

สาระสังเขป
       การประเมินการสัมผัสสารเคมี เป็นเรื่องของการประเมินว่าผู้ทำงานจะ “หายใจ” เอาอากาศที่มีสารเคมีฟุ้งกระจายปนเปื้อนอยู่ เข้าสู่ร่างกายเกินมาตรฐานที่กำหนดหรือไม่



          หลักการของการประเมินการสัมผัสสารเคมี จะต้องทราบข้อมูล 2 ข้อมูล คือข้อมูลความเข้มข้นของสารเคมีที่ฟุ้งกระจายในอากาศ และข้อมูลระยะเวลาการสัมผัส (หายใจ) สารเคมีนั้น ๆ (Time Exposure) จากนั้นจึงนำข้อมูลทั้งสองมาแทนค่าในสูตร ผลการคำนวณคือระดับการสัมผัสสารเคมีนั้น ๆ อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่การสัมผัสสารเคมีเกิดขึ้นเป็นบางช่วงเวลา ก็ให้คิดประเมินการสัมผัสทั้งช่วงเวลาที่สัมผัสและไม่ได้สัมผัสสารเคมีนั้น ๆ โดยอย่างน้อยระยะเวลาทั้งหมดที่ประเมินต้องเท่ากับ 8 ชั่วโมง (ดูตัวอย่างที่ 2 ประกอบ) และหากมีการทำงานมากกว่า 8 ชั่วโมง ก็ต้องคิดระยะเวลาทั้งหมดที่ทำงาน (เพราะได้หายใจเอาสารเคมีเข้าสู่ร่างกาย)  แต่ระยะเวลาที่ใช้หาร (ดูสูตรการประเมินการสัมผัส) จะต้องเป็น 8 ชั่วโมงเท่านั้น (เพราะค่ามาตรฐานได้คิดบนพื้นฐานของการทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวัน)

          สิ่งที่ควรทราบคือค่ามาตรฐานสารเคมีที่กฎหมายกำหนดหรือค่า OEL นั้น เป็นค่าระดับการสัมผัส (Exposure Level) สารเคมี ไม่ใช่ค่าความเข้มข้น (Concentration Level) ของสารเคมี ดังนั้นผลการตรวจวัดปริมาณสารเคมีที่ฟุ้งกระจายในอากาศนั้น ไม่สามารถจะนำไปเปรียบเทียบกับค่ามาตรฐานที่กฎหมายหรือมาตรฐานกำหนดได้โดยตรง แต่ต้องผ่านการคำนวณตามที่จะได้แนะนำต่อไป

.         เนื้อหาในหัวข้อนี้ เป็นการประเมินการสัมผัสสารเคมีที่มีค่ามาตรฐาน TLV-TWA เท่านั้น ส่วนกรณีที่เป็นค่า TLV-STEL หรือ TLV-C นั้น จะมีวิธีการประเมินที่แตกต่างกัน


🔶วิธีการประเมินการสัมผัสสารเคมีที่มีค่ามาตรฐาน OEL-TWA

          ใช้สูตรการประเมินการสัมผัสสารเคมีดังนี้

          TWA    =    [(C1T1) + (C2T2) +……….+ (CnTn)] / 8

  เมื่อ  TWA  =  ระดับการสัมผัสสารเคมีตลอดระยะเวลาการทำงาน หน่วยเป็น ความเข้มข้นของสารเคมี
                C  =   ความเข้มข้นของสารเคมีในอากาศที่ตรวจวัดได้ หน่วยเป็น ความเข้มข้นของสารเคมี
                T   =   ระยะเวลาที่สัมผัสสารเคมีนั้น ๆ หน่วยเป็น ชั่วโมง
.               8   =   ระยะเวลาทำงานตามปกติ หน่วยเป็น ชั่วโมง

ตัวอย่างการคำนวณค่าระดับการสัมผัส (TWA) สารเคมี

ตัวอย่างที่ 1 : พนักงานทำงานกับฝุ่นซิงก์ออกไซด์ ตรวจวัดความเข้มข้นของสารนี้ในอากาศพบมีค่า 10 มิลลิกรัม/ลูกบาศก์เมตร ถ้าพนักงานคนนี้ทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวัน ถามว่าเขาสัมผัสฝุ่นนี้ไปเท่าใด
วิธีทำ :
1. เขียนสูตรการประเมินการสัมผัสสารเคมี
                             TWA    =    [(C1T1) + (C2T2) +……….+ (CnTn)] /  8
               แทนค่าในสูตร
                             TWA   =    (10 x 8) / (8) 
2. คำนวณค่า TWA
                             TWA   =    10
3. แปลความหมายของค่า TWA

     จากค่าที่คำนวณได้ แปลความหมายได้ว่าพนักงานคนนี้สัมผัสฝุ่นซิงก์ออกไซด์ตลอดระยะเวลาการทำงานปกติ เท่ากับ 10 มิลลิกรัม/ลูกบาศก์เมตร


ตัวอย่างที่ 2 : จากตัวอย่างที่ 1 ถ้าพนักงานคนนี้ทำงานเพียง 7 ชั่วโมงต่อวัน ถามว่าเขาสัมผัสฝุ่นซิงก์ออกไซด์เกินค่ามาตรฐานหรือไม่ กำหนดค่า TLV ของฝุ่นซิงก์ออกไซด์เท่ากับ 10 มิลลิกรัม/ลูกบาศก์เมตร
วิธีทำ :
1. เขียนสูตรการประเมินการสัมผัสสารเคมี
                             TWA    =    [(C1T1) + (C2T2) +……….+ (CnTn)] /  8
2. แทนค่าในสูตร
                             TWA   =    (10 x 7) + (0 x 1) / 8 
3. คำนวณค่า TWA
                           TWA   =    8.75
4. แปลความหมายของค่า TWA
     จากค่าที่คำนวณได้ แปลความหมายได้ว่าพนักงานคนนี้สัมผัสฝุ่นซิงก์ออกไซด์ตลอดระยะเวลาการทำงานปกติ เท่ากับ 8.75 มิลลิกรัม/ลูกบาศก์เมตร
5. ตอบคำถามของโจทย์
     พนักงานคนนี้สัมผัสฝุ่นซิงก์ออกไซด์ตลอดระยะเวลาการทำงานปกติ คือ 8 ชั่วโมง ไม่เกินกว่าที่ค่ามาตรฐาน TLV กำหนดไว้
6. ข้อสังเกตจากการประเมินการสัมผัสสารเคมีในตัวอย่างที่ 2
    หากทบทวนความรู้ในเรื่องค่า OEL จะเข้าใจได้ว่าวิธีการประเมินการสัมผัสสารเคมี ต้องประเมินว่าตลอดระยะเวลาการทำงาน ได้หายใจเอาอากาศที่มีการปนเปื้อนสารเคมีเข้าสู่ร่างกายไปมากน้อยเพียงใด ในกรณีนี้ได้หายใจเอาฝุ่นซิงก์ออกไซด์เป็นระยะเวลา 7 ชั่วโมง (จึงนำ 7 ชั่วโมง ไปคูณกับความเข้มข้นที่หายใจเข้าไปคือ 10 มิลลิกรัม/ลูกบาศก์เมตร) และอีก 1 ชั่วโมงที่ไม่ได้หายใจเอาฝุ่นซิงก์ออกไซด์เข้าสู่ร่างกายนั้น ก็ต้องนำมาคิดด้วยเช่นกัน (จึงนำ 1 ชั่วโมง ไปคูณกับความเข้มข้นที่หายใจเข้าไปคือ 0 มิลลิกรัม/ลูกบาศก์เมตร – จำไว้ว่าเมื่อโจทย์ไม่ได้บอกว่าในเวลาที่เหลือนั้น สัมผัสสารเคมีไปเท่าใด ก็ให้คิดค่าความเข้มข้นของสารเคมีนั้น ๆ เป็นศูนย์ อย่างไรก็ตาม ในการทำงานจริง ๆ ต้องศึกษาด้วยว่าอีก 1 ชั่วโมงนั้น พนักงานคนนั้นได้ไปทำงานอะไร ที่บริเวณใด หากบริเวณนั้นพิจารณาแล้วว่ามีโอกาสที่จะสัมผัสฝุ่นซิงก์ออกไซด์ ก็ต้องทำการตรวจวัดว่าบริเวณนั้นมีค่าความเข้มข้นของฝุ่นดังกล่าวเท่าใด แล้วนำค่านั้นมาแทนค่าในสูตร ด้วยการคูณกับ 1 ชั่วโมง)
7. ข้อสังเกตอีกประการ หากมีการทำงานล่วงเวลาด้วย ก็ต้องคิดในช่วงระยะเวลาการทำงานล่วงเวลาว่าสัมผัสฝุ่นซิงก์ออกไซด์เท่าไรด้วย แต่ระยะเวลารวมที่เป็นตัวหารนั้น ยังคงเป็น 8 ชั่วโมง ทั้งนี้เพราะค่ามาตรฐานกำหนดไว้บนพื้นฐานการทำงาน 8 ชั่วโมง

*****************************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น